บ้าน และการก่อสร้าง หากเราต้องการจะมีบ้านสักหลัง ลงเงินไปไม่ใช่น้อย แน่นอนที่สุด เราก็อยากได้บ้านที่แข็งแรง อยู่กับเรายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผนังปูน หากเราเจอว่าบ้านเรามีรอยผนังปูนร้าว เจ้าของบ้านใจไม่ดีแล้ว กลัวบ้านพัง โน่น นี่ นั่น รีบหาทางแก้ไขกันใหญ่ วันนี้ เราจึงมีเคล็ดลับที่ดี ในการสร้างบ้าน ทำให้ผนังปูนแข็งแรงขึ้น มาฝากกัน
Table of Contents
อิฐสร้างบ้านต้องอิ่มน้ำ
- นำอิฐไปแช่น้ำ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะนำมาก่ออิฐสร้างบ้าน เพราะอิฐที่เรานำมาแช่ จะดูดน้ำเข้าไปในตัวของมัน ทำให้เวลาที่เราก่ออิฐสร้างบ้าน อิฐจะไม่ดูดน้ำจากปูนที่ก่อ ทำให้ปูนไม่แตกร้าวง่าย และแข็งแรง หากเราไม่นำอิฐแช่น้ำก่อน เวลาเราก่อ อิฐจะดึงน้ำจากปูนก่อ เร็วเกินไป ทำให้ปูนแข็งเร็วเกินไป จะส่งผลให้ปูนหดตัวได้ และการยึดเกาะไม่ดี แตกร้าวได้
- รดน้ำอิฐก่อก่อนจะฉาบทุกครั้ง จะช่วยป้องกันการเกิดรอยแตกลายงา เพราะอิฐจะดึงน้ำจากปูนฉาบ ทำให้ปูนฉาบแห้งเร็วเกินไป จึงเกิดรอยงาได้ ดังนั้นก่อนฉาบต้องรดน้ำที่อิฐก่อนทุกครั้ง ให้อิฐอิ่มน้ำ
- รดน้ำผนังหลังฉาบ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในช่วง 3 – 7 วัน จะช่วยลดปัญหาการแตกร้าวของปูนฉาบได้เยอะมาก
เทคนิคการก่ออิฐทำผนังบ้าน
- การก่ออิฐ ต้องก่อแบบสลับแนว สับหว่าง จะเสมือนเป็นตัวล็อคทำให้อิฐที่ก่อ แข็งแรงขึ้น ถ้าก่อแนวตรงจะทำให้ความแข็งแรงลดลง โดยส่วนใหญ่แล้ว ช่างก็จะก่ออิฐสลับแนวกันอยู่แล้ว จะเห็นว่า ถ้าเราก่อสลับแนวกัน ถ้าปูนก่อมันแตก มันจะไม่ลาม เพราะมีอิฐมาขวางสลับไว้นั่นเอง
- ความหนาของปูนก่อ ถ้าเป็นอิฐมอญ ปูนก่อไม่ควรหนาเกิน 1.5 เซ็นติเมตร เพราะถ้าก่อหนา เวลาปูนแห้งมันจะหดตัว ยิ่งก่อหนา ยิ่งหด ทำให้บ้านของเราเกิดความไม่แข็งแรงขึ้นได้ และอย่าลืมว่า ปูนก่อ แพงกว่าอิฐ ใช้ปูนเยอะ ก็เสียเงินในการก่อสร้างบ้านเยอะ แต่ถ้าเป็นอิฐมวลเบา จะก่อสูงแค่ 2 มิลลิเมตร เท่านั้น ซึ่งใช้ปูนน้อยกว่าอิฐมอญ
- การก่ออิฐต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง โดยเฉพาะบริเวณรอบช่องหน้าต่าง รอบช่องประตู และช่องเปิดต่างๆของบ้าน เพราะถ้าเราไม่มีเสาเอ็น และคานทับหลัง เวลาเกิดรอยร้าวที่มุมหน้าต่าง หรือประตู มันจะลามลงไปเรื่อยๆ แต่หากว่าเราได้ทำเสาเอ็นและคานทับหลังเอาไว้ มันจะช่วยให้บริเวณหน้าต่างและประตู หรือช่องต่างๆของบ้าน แข็งแรงขึ้น
- บริเวณผนังแผงทึบต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง ไม่ใช่แค่เพียงประตูหน้าต่าง หรือช่องต่างๆเท่านั้น แม้กระทั่ง บริเวณผนังทึบ ในระยะไม่เกิน 2-2.5 เมตร ก็ควรจะมีเสาเอ็นและคานทับหลังด้วย จะทำให้ผนังบ้านแข็งแรงขึ้น
- มุมกำแพงต้องมีเสาเอ็น เพราะการมีเสาเอ็น จะทำให้มุมต่างๆของบ้าน แข็งแรงขึ้น และเกิดโอกาสแตกร้าวได้ยาก หากไม่มีเสาเอ็นมารองรับ เวลาเกิดการแตกร้าวบริเวณมุมของบ้าน หรือกำแพง จะเกิดรอยร้าวยาวต่อเนื่องได้
- ใช้เครื่องผสมปูน ดีกว่า การผสมด้วยมือ เพราะจะได้สัดส่วนที่แน่นอนกว่า เนื้อปูนจะสม่ำเสมอ และเนียนกว่า เวลาเอามาฉาบทุกจุดจะเนียนสวยเท่ากัน แต่ถ้าผสมมือ อาจไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเรียบเนียนได้ยากกว่า
ข้อพึงระวังในการก่ออิฐกับเสาบ้าน
ควรเสียบเหล็กหนวดกุ้ง ทุกระยะที่ก่ออิฐมาชนเสา จะช่วยให้เกิดการยึด และป้องกันปัญหารอยร้าวของบ้านเป็นเส้นตรงที่ข้างเสาบ้าน ซึ่งพบอยู่มากในบ้านหลายหลัง หากเราได้ทำการเสียบเหล็กหนวดกุ้งยึดบริเวณเสา จะทำให้บ้านของเรา แข็งแรงขึ้น และไม่เกิดรอยร้าวข้างเสา
สรุป
การสร้างบ้าน โดยเฉพาะการก่ออิฐ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เจ้าของบ้าน และช่างต้องให้ความใส่ใจ เพราะในส่วนนี้ถือว่าสำคัญต่อความแข็งแรงของบ้าน และความสวยงามของบ้านด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิฐที่เราจะนำมาก่อ ต้องมีความอิ่มน้ำ การวางอิฐที่สลับกันไปมา การเสียบเหล็กหนวดกุ้งเชื่อมต่อกำแพงกับเสา รวมไปถึงการก่ออิฐต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง ในบริเวณช่องต่างๆของบ้าน และผนังทุกๆระยะ 2-2.5 เมตร เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับผนังบ้าน นั่นเอง