คิดเงินผ่อนก่อนซื้อบ้าน

คิดเงินผ่อนก่อนซื้อบ้าน เพราะบ้านไม่ใช่สินค้าที่สามารถตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์และความชอบได้เพียงอย่างเดียว ยิ่งถ้าเป็นบ้านหลังแรกที่เป็นเหมือนบ้านในฝัน ซึ่งคุณใช้เวลาเก็บหอมรอมริบเงินมาเป็นระยะเวลานานเพื่อเป็นเจ้าของด้วยแล้วละก็ ยิ่งต้องให้ความใส่ใจในการคัดสรรด้วยเหตุผลและปัจจัยที่ทำให้คุณได้บ้านที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในด้านข้อมูลและความรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อบ้านหลังแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปูพื้นฐานการเลือกซื้อบ้านที่ตรงใจ เหมาะสมกับคุณภาพ และคุ้มค่ากับราคาที่เสียไปได้เป็นอย่างดี

แต่สำหรับใครที่ไม่รู้ว่า บ้านที่ดีสำหรับตัวเองหน้าเป็นแบบไหน หรือควรจะเลือกซื้อบ้านจากปัจจัยใด แนะนำให้ศึกษาได้จาก 6 ข้อควรรู้สำหรับซื้อบ้านหลังแรกที่คุณสามารถหยิบไอเดียทั้งหมดในบทความนี้นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเลือกซื้อบ้านด้วยตนเองได้เลยในทันที

เลือกซื้อบ้านหลังแรกจากงบประมาณ
เรื่องงบประมาณถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่คนเราใช้เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะบ้านอาจเป็นสินทรัพย์เพียงไม่กี่อย่างที่ต้องใช้เวลาในการเก็บเงินหรือผ่อนจ่ายในระยะยาวกว่าค่อนชีวิตถึงจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แบบเต็มตัว

เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมในเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะช่วยทำให้คุณสามารถคำนวณเงินที่จะสามารถใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างเหมาะสมและไม่เกินตัวจนเกินไป ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้

วิธีที่ 1: ประเมินตนเองเรื่องค่าใช้จ่ายต่อเดือน
ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันช่วงก่อนซื้อบ้านหลังแรก หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการที่ซื้อบ้านที่ควรรู้ทั้งหมด เช่น ค่าผ่อนชำระ ค่าธรรมเนียม ค่าส่วนกลาง ฯลฯ โดยจะต้องประมาณการออกมาเป็นตัวเลขว่า ในแต่ละเดือนคุณจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่

ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้อยู่ในระดับที่รายได้และเงินออมของเราครอบคลุมหรือไม่ ถ้าหากขาดเหลือมากจนเกินไป บ้านที่เราหมายตาไว้อาจจะต้องเก็บเงินเพิ่มขึ้น หรือลดราคาบ้านที่จะซื้อให้ถูกลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินตัวออกไปนั่นเอง

วิธีที่ 2: ประเมินตนเองเรื่องรายได้
รายได้นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารใช้ในการพิจารณาความสามารถด้านการกู้สินเชื่อบ้าน ถ้าหากคุณประมาณรายได้ของตนเองมาอย่างรอบคอบว่าจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ช่วงราคาที่เท่าไหร่ก็จะทำให้การกู้ซื้อผ่านกับทางธนาคารผ่านได้ง่ายขึ้น

โดยสัดส่วนที่เหมาะสมของภาระหนี้ทั้งหมด รวมถึงภาระหนี้สำหรับการกู้บ้านจะต้องไม่เกิน 30% – 40% ของรายได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการซื้อบ้านในราคา 2 ล้านบาท คุณก็จะต้องผ่อนบ้านเดือนละประมาณ 14,000 บาท

แต่ถ้าหากคุณมีเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาทการกู้ซื้อบ้านในราคา 2 ล้านบาทจะทำให้คุณมีภาระหนี้ในการผ่อนบ้านเกินกว่า 40% ของจำนวนรายได้ จึงควรลดราคาบ้านที่ต้องการซื้อให้ต่ำกว่านี้ หรือหาวิธีการสร้างรายได้เพิ่มเติมและขยันเก็บเงินให้มากขึ้น เป็นต้น

วิธีที่ 3: ประเมินแผนการเก็บเงิน
หากคุณเลือกใช้วิธีการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านหลังแรกในฝัน คุณควรที่จะเริ่มประเมินแผนการออมเงินของคุณดูได้แล้วว่า เหมาะสมกับเป้าหมายที่เป็นสินทรัพย์ชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันคุณมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วคุณจะมีเงินเก็บอยู่ที่เดือนละ 10,000 บาท คุณตั้งเป้าหมายที่จะซื้อบ้านในราคา 5 ล้านบาท แต่คุณเลือกใช้วิธีการออมเงินด้วยการฝากประจำที่ให้ผลตอบแทนปีละ 2% นั่นเท่ากับว่า คุณจะต้องออมเงินเป็นเวลากว่า 40 ปีกว่าจะได้บ้านหลังแรกมาครอบครอง

นั่นหมายความว่า แผนการออมเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันของคุณยังไม่เหมาะสมกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ดังนั้น คุณจึงควรปรับสัดส่วนการออมใหม่ โดยเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่อปีที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้น, กองทุน ฯลฯ ก็จะทำให้คุณสามารถออมเงินเพื่อซื้อบ้านในฝันได้ในจำนวนเงินที่มากขึ้นด้วย