เรื่องน่ารู้ของการรีไฟแนนซ์บ้าน

เรื่องน่ารู้ของการรีไฟแนนซ์บ้าน รีไฟแนนซ์ คือการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินใหม่เพื่อนำไปปลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่ เหตุผลส่วนใหญ่ของการรีไฟแนนซ์ ได้แก่ การเลือกสถาบันการเงินใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อช่วยลพภาระค่าผ่อนชำระต่อเดือนหรือช่วยให้ผ่อนหมดได้เร็วขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น สมมติปัจจุบันนาย ก. ผ่อนบ้านราคาสองล้านบาทเป็นเวลา 20 ปี รวมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาเท่ากับสองล้านห้าแสนบาท นั่นคือเงินต้น (2,000,000 บาท) + ดอกเบี้ย (2,500,000 บาท) = 4,500,000 บาท จึงตัดสินใจเลือกรีไฟแนนซ์โดยเลือกให้ระยะเวลาการผ่อนสิ้นสุดตามสัญญาเดิม (17 ปี) ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนเป็นเงินต้น + ดอกเบี้ย = 3,750,000 บาท ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขสมมติแต่คงช่วยให้คุณเห็นภาพได้แล้วว่าการรีไฟแนนซ์นั้นสามารถช่วยให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น มีโอกาสประหยัดเงินได้นับแสนบาท

สมการข้างต้นอาจดูเรียบง่าย แต่ถ้าสนใจรีไฟแนนซ์บ้านจริงๆ จะยุ่งยากหรือไม่และต้องทำอย่างไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจขั้นตอนการรีไฟแนนซ์กันดีกว่า

ขั้นตอนในการรีไฟแนนซ์บ้าน
1. ตรวจสอบสัญญากู้บ้าน
ถ้าอยากรีไฟแนนซ์บ้านขั้นแรกให้เอาสัญญากู้บ้านมาตรวจสอบดูว่าสามารถเริ่มทำได้ตอนไหน ซึ่งส่วนมากในสัญญาสามารถเริ่มรีไฟแนนซ์บ้านได้เมื่อผ่อนไปแล้ว 3 ปี

2. เลือกธนาคารที่ใช่
เป็นข่าวดีเพราะการรีไฟแนนซ์นั้นมีให้เลือกมากกว่า 100 โปรโมชั่น ซึ่งเรื่องของดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับแต่ธนาคาร เราต้องนำข้อมูลของหลายๆ ธนาคารมาเทียบกัน ถ้าเลือกดีๆ จะได้ธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด และช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้นับแสนเลยทีเดียว และอีกเรื่องที่สำคัญคือธนาคารที่เราจะเลือกใช้บริการ Refinance นั้นเราสะดวกในการเข้าไปติดต่อทำธุรกรรมหรือไม่
ลงทุนใช้เวลาสักหน่อยในการเลือกธนาคารที่จะรีไฟแนนซ์ ลองดูโปรโมชั่นจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ เพื่อจะได้เลือกในสิ่งที่ดีที่สุด

3. เตรียมเอกสาร
การรีไฟแนนซ์บ้านมีเอกสารหลายส่วนที่ต้องเตรียม เพราะคล้ายการขอยื่นกู้บ้านใหม่อีกรอบ ซึ่งเอกสารที่แต่ละธนาคารต้องการมักจะคล้ายกัน

4. ยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์
เมื่อคุณยื่นเอกสารเพื่อขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์แล้ว ทางธนาคารก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินราคาหลักประกันของเราเพื่อประกอบการอนุมัติ และเมื่อได้รับการอนุมัติจากธนาคารใหม่ที่เราเลือกเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารจะแจ้งให้เราติดต่อธนาคารเดิมเพื่อสอบถามยอดหนี้คงเหลือและนัดวันไถ่ถอน

5. ทำสัญญาและจดจำนองที่กรมที่ดิน
เจ้าหน้าที่จากธนาคารใหม่จะถือสัญญาไปให้เซ็นที่กรมที่ดิน พร้อมๆ กับการไปทำสัญญาจำนองที่กรมที่ดินในวันเดียวกัน