เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับสร้างบ้านเย็นประหยัดพลังงาน การสร้างบ้านเย็นประหยัดพลังงาน ไม่จำเป็นต้องแพงและยุ่งยากเสมอไป เพียงวางแผนการสร้างอย่างเหมาะสม ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋า ตามเทคนิคทั้ง 5 ข้อ ที่เรานำมาฝากกันค่ะ
1. ทิศทางของบ้าน: หลีกเลี่ยงการสร้างบ้านหันไปทางทิศรับแดดเพื่อลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้าน สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ควรเลี่ยงทิศตะวันตกและทิศใต้เพราะได้รับอิทธิพลจากแสงแดดรุนแรงเป็นเวลา 8-9 เดือน ต่อปี แต่หากเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้ติดตั้งกันสาดช่วยบังแดด นอกจากนี้ ควรพิจารณาทิศทางลม เข้า-ออก ร่วมด้วย เพื่อให้อากาศถ่ายเทและมีลมพัดผ่านให้เย็นสบายอยู่ตลอดเวลา
2. ลักษณะบ้าน: เน้นสร้างบ้านหลังคาทรงสูง อาทิ ทรงจั่ว ทรงปั้นหยา ทรงมะนิลา เพราะระบายความร้อนได้ดีและใต้หลังคายังมีมวลอากาศอยู่มากจึงช่วยป้องกันความร้อนได้อีกชั้น ตัวบ้านเน้นความโปร่งโล่ง เพื่อให้มีช่องทางระบายอากาศและมีแสงธรรมชาติ ช่วยประหยัดแอร์และไฟฟ้า ไม่ควรมีลานคอนกรีตขนาดใหญ่เพราะทำให้บ้านร้อน
ส่วนเรื่องการจัดสรรพื้นที่ใช้สอย อาจจัดให้ครัวอยู่นอกตัวบ้าน เพราะการทำอาหารจะทำให้บ้านร้อนยิ่งขึ้น สำหรับห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรมีแหล่งน้ำและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปล่อยความร้อน (เช่น ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องถ่ายเอกสาร) เพราะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักและกินไฟมากขึ้น
3. วัสดุก่อสร้าง: เลือกวัสดุที่สามารถป้องกันความร้อนได้ดีและไม่เป็นตัวนำความร้อน โดยเฉพาะหลังคาซึ่งเป็นส่วนที่ต้องรับแสงแดดโดยตรงมากที่สุด แนะนำให้ใช้วัสดุมุงหลังคาประเภทกระเบื้องคอนกรีต กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ กระเบื้องดินเผา แล้วติดฉนวนพร้อมทาสีสะท้อนความร้อน หรือเลือกกระเบื้องที่มีคุณสมบัติเฉพาะ (เช่น กระเบื้องห้าห่วง แกรนาด้า คูลซีรีย์ ซึ่งสะท้อนความร้อนได้สูงถึง 85% และประหยัดพลังงานในบ้านได้มากถึง 30%) หลีกเลี่ยงสังกะสีหรือเมทัลชีท เพราะจะยิ่งทำให้บ้านร้อน
ส่วนอื่นของบ้านอาจเลือกใช้วัสดุที่ช่วยโลกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ ใช้วัสดุทดแทนไม้ (ไฟเบอร์ซีเมนต์) แทนไม้ธรรมชาติ เพื่อช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า อายุการใช้งานก็ยาวนาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยให้เปลืองทรัพยากร
4. สี: ทั้งหลังคาและผนังบ้าน ควรเลือกใช้โทนสีอ่อนเป็นหลัก เพราะสีเข้มจะดูดความร้อนเข้ามาสู่ตัวบ้านได้มาก ทำให้บรรยากาศภายในบ้านร้อนอบอ้าวและต้องเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศแรงขึ้น จึงสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น แต่หากชอบสีเข้ม ควรติดฉนวนกันความร้อนเอาไว้ นอกจากนี้ อาจเลือกใช้สีที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านป้องกันความร้อนและสะท้อนความร้อน ก็ช่วยให้บ้านเย็นขึ้นได้
5. ตัวช่วยดับร้อน: นอกจากพื้นฐานทั้ง 4 ข้อ อาจหาตัวช่วยอื่นๆ มาช่วยป้องกันความร้อนและเพิ่มความเย็นให้กับบ้าน อาทิ หากบ้านมีประตูหรือหน้าต่างกระจกบานใหญ่ อาจหาม่าน มู่ลี่ หรือตีระแนงเพื่อช่วยกรองแสงแดดไม่ให้เข้าบ้านมากจนเกินไป หรือหากใครมีพื้นที่ว่างรอบๆ บ้าน แนะนำให้ปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงา และทำแหล่งน้ำ เช่น สระน้ำหรือบ่อปลา เมื่อลมพัดผ่านแหล่งน้ำสู่ตัวบ้าน ก็จะนำไอความเย็นเข้ามาด้วย
การสร้างบ้านประหยัดพลังงาน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ได้นานขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสบายในการอยู่อาศัยน้อยลงเลยจริงไหมคะ เมื่อมีโอกาสสร้างบ้าน อย่าลืมนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กันค่ะ แล้วทั้งคนทั้งโลกก็จะมีรอยยิ้มที่กว้างขึ้น